top of page

Smart City เมืองอัจฉริยะ เชื่อมสังคมขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านเทคโนโลยี


เมืองอัจฉริยะ (Smart City) หรือบางท่านอาจคุ้นกับคำว่าเมืองฉลาด คือรูปแบบของเมืองแห่งอนาคตที่เข้าไปแก้ไขปัญหาสังคมเมือง โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมต่อความต้องการของประชาชน กับระบบงานบริการของทางภาครัฐ และภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นอีกหนึ่งหัวข้อนิทรรศการสำคัญที่จะเกิดขึ้นภายในงานสถาปนิก’62 ภายใต้แนวคิด “กรีน อยู่ ดี : Living Green” วันนี้ทีมงานได้รับเกียรติจาก ผศ. ดร. ธนะ จีระพิวัฒน์ อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมสถาปนิกสยามฯ พูดคุยถึงนิทรรศการ Smart City ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในงาน รวมไปถึงแนวคิดของเมืองอัจฉริยะ (Smart City)

เชื่อมเทคโนโลยี สร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City)

ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว (Disruptive Technology) ส่งผลกระทบต่อไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม ก่อให้เกิดแนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการวางโครงสร้างพื้นฐานระบบงานบริการสาธารณะเพื่อเพิ่มศักยภาพให้เมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของคนทุกเพศทุกวัยได้อย่างตรงจุด ซึ่งนั่นหมายถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมเมืองให้ดีขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าผู้บริหารเมืองในยุคนี้ต่างนำแนวคิดการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มาพัฒนา และวางแผนเมืองให้มีความน่าอยู่อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ องค์ประกอบของเมืองอัจฉริยะ (Smart City) แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่

1. เทคโนโลยีดิจิทัล ถูกนำมาปรับใช้กับเมืองเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการสาธารณะผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลความแออัดของการจราจรบนท้องถนนเพื่อให้เราสามารถวางแผนการเดินทางได้ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงระบบดูแลสุขภาพโดยที่ตัวเองยังอยู่ที่บ้าน เป็นต้น

2. ประชาชน ผู้คนที่มีความเกี่ยวข้องกับเมืองคือหัวใจหลักในการออกแบบ และวางแผนพัฒนาเมือง (User-Centered Design) ผ่านการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม สอดรับกับรูปแบบการดำเนินชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นการได้ผู้บริหารเมืองที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) คือปัจจัยสำคัญในการพัฒนา และวางแผนเมืองอย่างชาญฉลาด

ประชาชนในที่นี้แบ่งเป็น 2 ภาคส่วนได้แก่ 2.1) ภาคเอกชน ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการทำธุรกิจ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนมากที่สุดในปัจจุบันคือ การให้บริการซื้ออาหารผ่านแอพพลิเคชั่นส์ LINE MAN, Food Panda, GrabFood เป็นต้น ที่เพิ่มความสะดวกสบายในการซื้ออาหารอร่อยตามย่านต่าง ๆ โดยที่เราไม่ต้องออกจากบ้าน หรือที่ทำงาน 2.2) คนทั่วไปที่เข้ามาใช้พื้นที่สาธารณะ ผู้บริหารเมืองจะต้องศึกษาความต้องการของผู้คนผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data และการค้นคว้าวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนในเมืองได้อย่างตรงจุด เช่น การออกแบบสวนสาธารณะที่เหมาะสมกับชุมชนในแต่ละพื้นที่ที่มีความต้องการแตกต่างกัน เป็นต้น

Smart City กับประเทศไทย

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมเลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในระยะแรกได้วางเป้าหมายการพัฒนาเมืองน่าอยู่ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ เขตเทศบาลเมืองป่าตอง และเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต โดยแบ่งพัฒนาออกเป็น 2 ประเด็นได้แก่ Smart Economy และ Smart Living Community เพื่อผลักดันระบบเศรษฐกิจภายในเมือง พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมือง และนักท่องเที่ยว โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น การสร้างแอพพลิเคชั่นเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว การเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยครอบคลุมทั่วทั้งเมือง การนำอุปกรณ์สายรัดข้อมือ (Wristband) เพื่อระบุพิกัดนักท่องเที่ยวเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในขณะทำกิจกรรมทางน้ำ และการเดินทางท่องเที่ยวไปยังเกาะต่าง ๆ หรือ Phuket Smart Bus ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาเรื่องระบบขนส่งมวลชนภายในจังหวัดภูเก็ต ช่วยลดจำนวนยานพาหนะบนท้องถนน และช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนการเดินทางได้ เป็นต้น นอกจากนี้ จังหวัดขอนแก่นก็มีการเริ่มต้นพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะผ่านโครงการ Khon Kaen City Bus จากความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ และเอกชนในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น KK Transit ที่แสดงตำแหน่งรถเมล์แบบเรียลไทม์ รวมทั้งแสดงหมายเลขทะเบียนรถ ชื่อพนักงานชับรถ ความเร็วที่ใช้ พร้อมจุดจอดรถที่ช่วยให้ผู้โดยสารสามารถวางแผนการเดินทางได้ง่ายด้วยตนเอง ภายในรถโดยสารยังมีสัญญาณ WIFI ฟรี มีกล้อง CCTV เพื่อเพิ่มความปลอดภัย เป็นต้น

สำหรับกรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการพัฒนาให้กรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ครอบคลุม 6 มิติ ได้แก่ 1. ด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) 2. ด้านการเดินทางขนส่ง (Smart Mobility) 3. ด้านประชาสังคม (Smart People) 4. ด้านการบริหารภาครัฐ (Smart Governance) 5. ด้านความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน (Smart Safety) และ 6. ด้านเศรษฐกิจ (Smart Economy) โดยมีแนวคิดที่จะเริ่มต้นการพัฒนาในพื้นที่เขตปทุมวัน ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการศึกษาก่อนขยายไปยังเขตพื้นที่โดยรอบที่มีความพร้อมในการพัฒนา ในขณะที่ฝั่งธนบุรี มีแนวคิดในการพัฒนาย่านสะพานตากสิน เขตคลองสาน ก่อนย้ายไปยังพื้นที่ข้างเคียง

นิทรรศการ Smart City ในงานสถาปนิก ‘62

ผู้เข้าชมจะได้รับความรู้เรื่องเมืองอัจฉริยะ และกรณีศึกษาการพัฒนา Smart & Low-Energy City จากเมืองต่าง ๆ ในยุโรป อเมริกา และเอเชีย โดยการประสานงานระดับผู้บริหารเมือง นักวางแผนและผัง ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการ และวิชาชีพที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง Smart City, Green City และ Sustainable City ที่ประสบความสำเร็จ และอยู่ในกระบวนการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น Smart City ของกรุงเวียนนา กับเป้าหมายการพัฒนา 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1) ด้านทรัพยากร - ลดอัตราการใช้พลังงาน พร้อมเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน กำหนดมาตรฐานการใช้พลังงานในการสร้างตึกใหม่เป็น Zero-Energy และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับสูง 2) ด้านนวัตกรรม - การวิจัย เทคโนโลยี ผลักดันให้เวียนนาเป็นศูนย์กลางการวิจัย และนวัตกรรมของสหภาพยุโรป พร้อมผลักดันให้เวียยนาเป็น 1 ใน 10 ภูมิภาคของสหภาพยุโรปที่มีศักยภาพในการซื้อสูง และเป็นเมืองที่บริษัทข้ามชาติให้ความสนใจมาตั้งสำนักงานใหญ่ พร้อมยกระดับระบบการศึกษาให้มีคุณภาพสูงขึ้น 3) ขับเคลื่อนคุณภาพชีวิต ครอบคลุมการมีส่วนร่วมในสังคม มีการดูแลทางการแพทย์ที่สูง และมีอัตราส่วนของพื้นที่สีเขียวกว่า 50% ของพื้นที่ทั้งหมด หรือ Smart City ของเมืองสุราบายา อินโดนีเซีย ที่ผู้ว่าฯ เมืองหญิง Tri Rismaharini นำแนวคิด Smart City มาตอบโจทย์ปัญหาของเมือง โดยกระตุ้นให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานผ่านการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ส่งผลให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการออกแบบสวนสาธารณะสำหรับคนในพื้นที่ ที่นอกจากจะเพิ่มพื้นที่พักผ่อนให้เพียงพอแล้ว ยังเพิ่มลู่วิ่งภายในพื้นที่ให้ประชาชนได้ออกกำลังกายพร้อมเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับคนเดินเท้าภายในเมืองด้วย หรือการปรับปรุงพื้นที่เสื่อมโทรม โดยการนำย่านเก่ามาปรับปรุงให้เป็นพื้นที่ที่คนในชุมชน พร้อมกระตุ้นให้วัยรุ่น วัยทำงาน เข้ามาใช้บริการ ทั้งนี้ ภายในพื้นที่ถูกดัดแปลงเป็น Co-working Space การสร้างพื้นที่สำนักงาน พร้อมสัญญาณอินเทอร์เน็ตฟรี แนวคิดนี้ช่วยลดปัญหาอาชญากรรม แก้ปัญหาเด็กติดเกมส์ และลดพื้นที่แหล่งมั่วสุมได้เป็นอย่างดี

และนี่คืออีกหนึ่งแนวคิด Smart City เมืองอัจฉริยะ ที่คุณสามารถเรียนรู้ผ่านงานสถาปนิก ’62 ภายใต้แนวคิด “กรีน อยู่ ดี : Living Green” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2562 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1 – 3 ศูนย์แสดงสินค้า และการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

Comments


bottom of page