top of page

VERNADOC อีกหนึ่งวิธีการศึกษาเพื่ออนุรักษ์อาคารเก่า


หากคุณอยู่ในแวดวงสถาปัตย์แล้ว เชื่อว่าคุณต้องเคยได้ยินคำว่า VERNADOC แน่นอน ด้วยความที่แนวคิดประจำปีของงานสถาปนิก'64 นั้นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการอนุรักษ์ เราจึงถือโอกาสนี้หยิบยกแนวทางของ VERNADOC มาพูดถึงอีกครั้ง


ความหมายและจุดเริ่มต้นของ VERNADOC ในประเทศไทย

VERNADOC เป็นคำย่อมาจาก Vernacular Architecture Documentation ซึ่ง Markku Mattila สถาปนิกชาวฟินแลนด์ใช้เรียกแนวทางการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ที่เน้นการเก็บข้อมูลจริงในพื้นที่ด้วยเทคนิคพื้นฐาน อย่างการใช้มือ ดินสอ ปากกาเขียนแบบ และไม้บรรทัด แต่สามารถได้ผลงานในคุณภาพระดับสูง อย่างการเขียนแบบอาคาร และภูมิทัศน์ในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งจะละเอียดตรงกับความเป็นจริงในทุกองค์ประกอบ เช่น มิติแสงเงา สัดส่วนต่างๆ ของอาคาร รวมถึงร่องรอยการทรุดโทรมเพื่อให้ได้ความถูกต้อง แม่นยำ สมจริง และง่ายต่อความเข้าใจของบุคคลทั่วไป


วิธีการเขียนแบบสถาปัตยกรรม VERNADOC ในประเทศไทย เริ่มต้นจากการที่ ผศ.สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว ที่ปรึกษาชมรมอนุรักษ์สถาปัตย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้พบกับ Markku Mattila ในการประชุมประจำปีของคณะกรรมการวิชาการนานาชาติว่าด้วยสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (CIAV) และได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องงานอนุรักษ์ จนมีการชักชวนกันจัดค่ายสำรวจรังวัดในระดับนานาชาติ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ VERNADOC ในประเทศไทย




อุดมการณ์และเป้าหมาย

เป้าหมายของโครงการ VERNADOC คือการมุ่งเน้นให้ผู้คนเล็งเห็นอัตลักษณ์ และตระหนักถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เช่นบ้าน วัด โรงเรียน และตลาด โดยคาดหวังว่าผลจากการลงพื้นที่สำรวจรังวัดจะสร้างแรงบันดาลใจให้เจ้าของอาคาร หรือคนในชุมชนเห็นคุณค่า เช่นเดียวกับที่บุคคลจากภายนอกเห็น นำไปสู่การอนุรักษ์อาคารเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไป


คุณค่าที่สะท้อนผ่านกระบวนการอันเรียบง่าย

กระบวนการของ VERNADOC มีวิธีการทำงานและใช้อุปกรณ์ที่เรียบง่าย เริ่มจากการสำรวจรังวัดและบันทึกข้อมูล แล้ววาดลงกระดาษแผ่นเดียว โดยใช้เครื่องมืออย่างตลับเมตร ที่วัดระดับน้ำ ไม้บรรทัด ดินสอ และปากกาเขียนแบบ

VERNADOC นั้นครอบคลุมทั้งการอนุรักษ์ และพัฒนาทักษะของผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากเป็นการบันทึกอาคารตามสภาพจริง ผู้ปฏิบัติงานต้องทำความเข้าใจถึงวิธีการก่อสร้างอาคาร ซึ่งอาคารที่สร้างมาเป็นร้อยๆ นั้นปีย่อมไม่สามารถระบุผู้สร้าง หรือมีแบบอาคารไว้เป็นหลักฐาน ดังนั้นการรังวัดและสร้างแบบขึ้นมาจึงเป็นประโยชน์ต่อชุมชน เมื่อเกิดความเสียหาย สามารถทำการซ่อมแซมได้โดยสะดวก นอกจากนั้นการเก็บรายละเอียดกระทั่งความเสื่อมสภาพของอาคารทำให้สามารถนำเป็นข้อมูลเพื่อศึกษา และพัฒนารูปแบบเชิงสถาปัตยกรรมต่อได้ และเนื่องจากการในการปฏิบัติงานต้องลงสำรวจพื้นที่จริงประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ปฏิบัติงานจึงได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาคารไปพร้อมกับการเขียนแบบ ทำให้สามารถเก็บเรื่องราวของอาคาร ตลอดจนวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องมาบอกเล่าในผลงานได้เป็นอย่างดี ต่างจากการบันทึกด้วยอุปกรณ์อื่นๆ ที่อาจจะให้ได้แค่มูลทางกายภาพ



กระบวนการ VERNADOC ไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่การเขียนแบบอาคารเสร็จสมบูรณ์ แต่ยังมีการจัดสัมนา หรือนิทรรศการแสดงผลงานอย่างง่ายบริเวณชุมชน เพื่อเป็นพื้นที่สร้างความเข้าใจ และสำนึกร่วมระหว่างคนในชุมชน และบุคคลภายนอกที่เข้าไปศึกษา อีกทั้งยังต้องการหาแนวร่วม และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการอนุรักษ์อาคารเก่าในพื้นที่อื่นต่อไป


การอนุรักษ์และฟื้นฟูสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นด้วยกระบวนการ VERNADOC

กระบวนการ VERNADOC ได้ถูกนำไปใช้อนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมากมาย และได้ขยายไปถึงมรดกทางสถาปัตยกรรมระดับชาติ มีการลงพื้นที่สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศ และสากล เช่น


เมืองเก่าพิมาย

โครงการการฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเมืองเก่าพิมายด้วยการขับเคลื่อนทางศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเรือนที่ทำการสำรวจนี้เป็นเรือนพื้นถิ่นมีอายุเรือนประมาณ 70 ปี ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าบ้านส่วย อำเภอพิมาย โดยบ้านส่วยนี้มีความสำคัญในฐานะของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ลุ่มแม่น้ำมูล ที่มีการพบเศษภาชนะดินเผาแบบพิมายดำเป็นครั้งแรก


ชุมชนป้อมมหากาฬ

การสำรวจเรือนตัวอย่างจำนวน 5 หลัง ด้วยวิธี VERNADOC สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาในเชิงช่าง ความต่อเนื่อง และพัฒนาการของรูปแบบในการอยู่อาศัย โดยเฉพาะอาคารไม้ของชาวพระนครในพื้นที่แห่งนี้ ยิ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับแหล่งที่ตั้งของชุมชน ที่ปรากฏอยู่บริเวณชานกำแพงพระนครและป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ของป้อมปราการแห่งสุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว นับว่าเรือนไม้พื้นถิ่นในชุมชนแห่งนี้มีคุณค่าในระดับสูงยิ่ง เมื่อพิจารณาตามกรอบของกฎบัตรสากลว่าด้วยมรดกสิ่งก่อสร้างพื้นถิ่น และหลักการอนุรักษ์เมืองและพื้นที่เมืองประวัติศาสตร์ ที่ประกาศโดย ICOMOS องค์กรอิสระซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการของ UNESCO ในการให้รางวัลมรดกโลก


โรงภาษีร้อยชักสาม

อาคารศุลกสถาน (เก่า) หรือโรงภาษีร้อยชักสาม ถนนเจริญกรุง กรุงเทพมหานคร สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ. 2429 แล้วเสร็จในปี 2433 เพื่อใช้ในกิจการของกรมศุลกากร จน พ.ศ. 2492 กรมศุลกากรได้ย้ายไปสร้างที่ทำการแห่งใหม่ที่คลองเตย โรงภาษีร้อยชักสามได้ถูกปรับเป็นที่ทำการของตำรวจน้ำหรือ ศุลการักษ์ และต่อมาก็ถูกเปลี่ยนเป็นสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก ซึ่งขึ้นกับกองตำรวจดับเพลิงและสถานีตำรวจน้ำ


โรงงานมักกะสัน

สิ่งก่อสร้างอายุราว 122 ปีแห่งนี้มีความสำคัญเชิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพราะถือว่าเป็นต้นกำเนิดของการรถไฟแห่งประเทศไทย จากผลการสำรวจสถานที่นี้ประกอบด้วย 5 อาคาร ได้แก่ อาคาร 2465, คลังพัสดุโรงงาน, อาคารโรงงานซ่อมรถจักร, อาคารโรงหล่อ และกระสวน ซึ่งแต่ละอาคารยังคงหลงเหลือวัสดุ และเรื่องราวในอดีต แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของกิจการรถไฟไทย และยังเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของผู้คนในยุคที่กิจการรถไฟรุ่งเรือง สถานที่แห่งนี้จึงเต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การอนุรักษ์

จะเห็นได้ว่าผลงานของ VERNADOC เป็นข้อมูลที่สื่อสารให้ผู้คนเข้าใจได้ง่าย ถึงคุณค่าและความหมายของสถาปัตยกรรมด้วยวิธีการทำงานที่เรียบง่าย และแสดงออกผ่านภาษาสากลของสถาปัตยกรรม เกิดเป็นฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเปรียบเทียบ และใช้อ้างอิงในการออกแบบสถาปัตยกรรมต่อไปได้อย่างยั่งยืน และในขณะเดียวกันก็ยังได้สร้างเครือข่ายของสถาปนิกรุ่นใหม่ เพื่อออกไปทำงานภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลกอีกด้วย


ติดตามผลงานและข้อมูลของ VERNADOC ได้ในนิทรรศการเครือข่ายมรดก งานสถาปนิก'64 "มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage" จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 มิถุนายนนี้ ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี


Website: vernadoc.com

Facebook : VERNADOC Thailand

RSU VERNADOC

ภาพ: VERNADOC Thailand

บทความ: อวิกา บัวพัฒนา


ขอบคุณข้อมูลจาก: Kooper.co

Comments


bottom of page