top of page

กรพัชร สุวรรณศิลป์ : ผู้บันทึกหน้าประวัติศาสตร์ด้วยภาพวาด VERNADOC


เมื่อพูดถึงงานศิลป์แบบ Vernadoc หลายคนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่ถ้าเราบอกว่ามันคืองานวาดเส้นเชิงสถาปัตยกรรมเสมือนจริง ที่ใช้เพียงสายตา ดินสอปากกา และไม้บรรทัด เป็นอุปกรณ์ในการถ่ายทอดรายละเอียดต่างๆ อย่างประณีต ทีนี้หลายคนอาจจะร้อง “อ๋อ” ขึ้นมาบ้าง และพลันนึกย้อนไปถึงภาพวาดลายเส้นในหนังสือสถาปัตยกรรมเก่าๆ ที่เป็นรูปบ้านโบราณ วัดโบสถ์อาราม ฯลฯ อันที่จริงแล้วงานวาดสไตล์ Vernadoc นี้ย่อมาจากคำว่า ‘Vernacular Architecture Documentation’ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเพื่อจะเก็บบันทึกเรื่องราวของงานสถาปัตยกรรม ‘ตามบริบทเฉพาะ’ ที่เป็นอยู่ในพื้นที่หนึ่งๆ แบบแม่นยำที่สุด

กรพัชร สุวรรณศิลป์ สถาปนิกรุ่นใหม่จากกลุ่ม Vernadoc (ประเทศไทย) เป็นผู้หนึ่งที่สนใจและเชี่ยวชาญการวาดภาพด้วยเทคนิคนี้ในระดับท็อปๆ ของเอเชีย ซึ่งในทรรศนะของเขานั้นงานวาด Vernadoc ก็คือกระบวนการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบหนึ่ง ที่เน้นการเก็บข้อมูลจริงผ่านเทคนิคพื้นฐานอย่างการวาดมือ โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อบันทึกเรื่องราวที่ปรากฏอยู่​ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งมาอย่างช้านาน “เนื้อหาของมันจะเกี่ยวกับอาคารบ้านเรือนในเชิงพฤติกรรมครับ ทำให้เห็นถึงการใช้ชีวิต ประวัติความเป็นมา และฟังก์ชั่นต่างๆ ในพื้นที่นั้น”

กรพัชรเล่าว่าด้วยเทคนิควิธีที่ง่ายแต่ได้คุณภาพระดับสูงนี้ งานวาด Vernadoc จะเป็นประโยชน์มากในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น โดยผู้วาดใช้เพียงแค่มือ ดินสอ ปากกาเขียนแบบ และไม้บรรทัด แต่กลับได้ผลงานที่แม่นยำตรงตามความเป็นจริงทุกองค์ประกอบ ทั้งมิติแสงเงา สัดส่วนของอาคาร รวมถึงร่องรอยการชำรุดทรุดโทรมต่างๆ ที่แม้แต่คนที่ไม่ใช่สถาปนิกดูแล้วก็เข้าใจได้

“ผมมองว่าการทำงานตรงนี้นอกจากเราเองจะสนุกกับมันแล้ว มันยังเป็นการช่วยชาติบันทึกประวัติศาสตร์ได้วิธีหนึ่ง เพราะ Vernadoc เป็นวิธีเก็บข้อมูลที่ละเอียดมาก เป็นเทคนิคโบราณที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก และเป็นมรดกที่สามารถส่งต่อให้คนอื่นนำไปใช้ได้ ทั้งในเชิงการศึกษาค้นคว้า การเรียนรู้ การปลูกจิตสำนึก ผู้วาดทุกคนก็ดีใจที่ได้ทำเพื่อส่วนรวมตรงนี้ด้วย” กรพัชรเผยถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังของเขา

ผลงานภาพ Vernadoc โดยฝีมือของกรพัชรและเพื่อนๆ ในกลุ่มมีให้ติดตามได้ในเพจ Vernadoc เช่นที่สถานีรถไฟนครลำปาง ชุมชนวัดซางตาครูซ ชุมชนป้อมมหากาฬ และตามชุมชนเก่าต่างๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งนอกจากความประณีตสวยงามในเชิงศิลป์แล้วผลงานบางชิ้นยังถูกนำไปใช้ประโยชน์จริงในการฟื้นฟูสิ่งปลูกสร้างโบราณให้กลับคืนสู่สภาพเดิมด้วย เช่น การซ่อมแซมศาลาริมน้ำที่ชุมชนซางตาครูซ เป็นต้น “เราคาดหวังว่าการสำรวจรังวัดสถาปัตยกรรมเก่าด้วยภาพ Vernadoc นี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เจ้าของอาคารหรือคนในชุมชนต่างๆ ได้มองเห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่เขามีอยู่ เพื่อเขาจะได้ร่วมใจกันอนุรักษ์อาคารเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไป”

สำหรับผู้ที่สนใจอยากสัมผัสการวาดภาพสไตล์ Vernadoc นี้ให้มากขึ้น กรพัชร สุวรรณศิลป์ กำลังจะจัดมินิเวิร์คช็อป VERNADOCX ความยาวสองชั่วโมงที่งานสถาปนิก ’61 ในวันที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งถือเป็นกิจกรรมฉบับย่อที่จะเปิดให้คุณได้เรียนรู้การเก็บข้อมูลเชิงอนุรักษ์ด้วยเทคนิคการวาดนี้ในเวลาอันสั้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่อีเมล: vernadocthai@yahoo.com หรือคลิกเพื่อลงทะเบียนสมัคร (* สิ่งที่ผู้สนใจร่วมเวิร์คช็อปต้องเตรียมมา ได้แก่ ตลับเมตรขนาดเล็ก 1-3 เมตร, ไม้บรรทัด, สเกลแบบสามเหลี่ยม, ดินสอ 4H, ยางลบ และหากท่านใดมีปากกาเขียนแบบเช่น rotting หัวขนาด 0.1-0.3 สามารถนำติดตัวมาด้วย)

Comments


bottom of page