top of page

ไขข้อข้องใจอะไรคือ The Everyday Heritage



จับเข่าคุยกับคุณทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ ศิลปินดีเด่นรางวัลศิลปาธร 2561 สาขาสถาปัตยกรรม และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสถาปนิก Department of Architecture ถึงการประกวดแบบระดับชาติ ASA Experimental Design Competition 2020 ในหัวข้อ The Everyday Heritage ที่เธอเป็นโต้โผดูแล





Q: หลายคนบอกว่าโจทย์ปีนี้กำกวมทีเดียว ในฐานะผู้ดูแลการประกวดคุณช่วยไขข้อข้องใจตรงนี้หน่อยได้ไหม


ทวิตีย์: "Everyday Heritage มันเป็นสิ่งที่กำกวมถูกต้องแล้วค่ะ (หัวเราะ) ดังนั้นใครที่รู้สึกไม่มั่นใจ หรือตั้งคำถามว่ามันคืออะไรกันแน่ นั่นคือคุณมาถูกทางแล้ว เพราะโดยทั่วไปสิ่งที่เรามั่นใจแน่ว่ามันเป็น heritage ของชาติ เช่นวัด เช่นวัง หรือของที่ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์แล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยเป็นปัญหา ส่วนใหญ่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่ในโลกปัจจุบันเรายังมีของอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะมีคุณค่าในฐานะมรดกสถาปัตยกรรม แต่เป็นสิ่งที่พวกเราลืมมอง หรือมองแล้วก็ผ่านไป ทั้งที่มันก็อาจมีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ หรือทางจิตใจ หรือทางใดทางหนึ่งที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน นี่คือสิ่งที่การประกวดปีนี้ต้องการชวนคุณออกตามหา อยากให้มาช่วยกันมองและช่วยกันคิดว่าเราสามารถจะตีความ สร้างคุณค่า หรือสร้างความหมายใหม่ให้กับ everyday heritage เหล่านี้อย่างไรผ่านการทำงานออกแบบสถาปัตยกรรม"


Q: หมายความว่า Everyday Heritage ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่เก่าเป็นร้อยๆ ปีก็ได้รึเปล่า


ทวิตีย์: "นี่ล่ะคือสิ่งที่การประกวดปีนี้อยากให้คุณตั้งคำถาม เป็นคำถามสำคัญเลยนะคะ อะไรที่ทำให้สถาปัตยกรรมหนึ่งๆ มีคุณค่าพอที่เราจะเรียกว่า everyday heritage หรือที่ทำให้มันควรค่าแก่การอนุรักษ์ หรือเก็บรักษาไว้ในทางใดทางหนึ่ง บางทีมันอาจจะเป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้เก่าเป็นร้อยปีก็ได้รึเปล่า แต่ถ้ามันมีองค์ประกอบบางอย่างที่ทำให้มันมีคุณค่าในความรู้สึกของคุณล่ะ นั่นคือสิ่งที่คุณต้องหาคำตอบมาให้กรรมการ โจทย์ปีนี้แม้จะเป็นเรื่อง heritage

แต่เราไม่ได้ตีกรอบมันด้วยอายุนะคะ ถ้าสถาปัตยกรรมหนึ่งมีอายุ 30 ปี หรือ 40 ปี แต่คุณเห็นนัยสำคัญบางอย่างที่มันสื่อถึงพลวัติทางวัฒนธรรม ทางรสนิยม หรือทางเทคโนโลยีในยุคสมัยนั้นๆ มันก็อาจจะมีคุณค่าพอที่จะเป็นมรดกก็ได้ อันนี้เราเชื่อว่าแต่ละคนจะมีมุมมองไม่เหมือนกัน"


“ของบางอย่าง บางคนก็ให้คุณค่า บางคนก็ไม่ให้คุณค่า

ปัญหาเรื่องมรดกสถาปัตยกรรมมันมักจะอยู่ในพื้นที่ก้ำกึ่งแบบนี้”


Q: ฟังดูท่าทางคณะกรรมการจะตัดสินยาก


ทวิตีย์: "ก็ท้าทายล่ะค่ะ (หัวเราะ) เพราะมันไม่มีเงื่อนไขเป็นข้อๆ ที่เราจะบอกว่านี่คือถูกหรือนี่คือผิด เราถึงได้เรียกมันว่า Experimental Design Competition ไงคะ เพราะมันคือการก้าวเข้าไปในโลกที่เรายังไม่รู้ กรรมการก็ยังไม่รู้ คนตั้งโจทย์ก็ยังไม่รู้ ไอเดียสำคัญอยู่ที่การตั้งคำถามที่ดี และจะไม่มีคำตอบไหนที่ถูกหรือผิด ทั้งหมดขึ้นอยู่กับคุณจะตีความโจทย์ที่คุณเลือกมาอย่างไร และจะใช้การออกแบบเข้าไปทำงานกับสถาปัตยกรรมนั้นให้มันมีพลังขึ้นมาได้

แค่ไหน


“กรรมการไม่ได้ตามหาการบูรณะสถาปัตยกรรมเก่าคืนสู่สภาพเดิม (restoration)

แต่เราตามหาการออกแบบที่จะเปลี่ยนแปลงมรดกสถาปัตยกรรมนั้นอย่างสร้างสรรค์มากกว่า (architectural intervention)”


ถ้าผลงานใดสามารถจะไขประตูความคิดหรือสร้างมุมมองใหม่ๆ ให้คณะกรรมการรู้สึกทึ่งได้ นั่นคือคำตอบที่ใช่ และเราเชื่อมั่นว่าด้วยความหลากหลายของคนที่เข้าประกวด เราน่าจะได้เห็นไอเดียที่เปิดกว้างมากและจะได้เห็นโซลูชั่นแปลกใหม่ที่เราคาดไม่ถึงแน่นอน"


 



สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอเชิญสถาปนิก นักออกแบบ นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด ASA Experimental Design Competition 2020 ในหัวข้อ 'THE EVERYDAY HERITAGE' ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 285,000 บาท


โดยสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2563 ดูข้อมูลการส่งประกวดเพิ่มเติมได้ที่: www.asacompetition.com


Commentaires


bottom of page