top of page

ชมมรดกบ้านเมืองร้อน ณ พิพิธภัณฑ์บ้านปาร์คนายเลิศ กับ คุณวทัญญู เทพหัตถี รองประธานจัดงานสถาปนิก’64


บ้านปาร์คนายเลิศ หรือ Nai Lert Park Heritage Home แห่งนี้ตั้งอยู่ในซอยสมคิด บนถนนวิทยุ ตลอดทางบนถนนวิทยุจนเลยผ่านเข้ามาในส่วนของบ้านปาร์คนายเลิศ มีทั้งความร่มรื่นของร่มไม้ และความเงียบสงบ ซึ่งแตกต่างจากสภาพแวดล้อมของบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองกรุงเทพ ฯ โดยทั่วไปอย่างสิ้นเชิง และเมื่อเดินเข้ามาตามทางเดินจนเกือบสุดทาง ก็จะได้พบกับหลังคาสีเขียวไข่กาที่ตั้งตระหง่านอย่างเงียบสงบท่ามกลางต้นไม้โดยรอบ ราวกับกำลังรอให้ผู้คนเข้ามาซึมซับและชื่นชมกับคุณค่าความเป็นมาของอดีตที่บรรพบุรุษได้สร้างเอาไว้

สถานที่แห่งนี้ ถือเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมที่งามสง่า ทรงคุณค่า และนับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจวิถีชีวิตของคนในอดีตได้มากขึ้น ความเก่าแก่ที่ยังคงได้รับการอนุรักษ์สืบทอดต่อ ๆ มาด้วยความใส่ใจจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้บ้านปาร์คนายเลิศเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ตรงกับคำว่า “Heritage” ในความหมายของงานสถาปนิก’64 ที่อยากจะชี้ชวนให้คนได้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ คำว่า ‘มรดก’ ในหลากหลายมิติ และอยากให้คนได้เห็นว่าเรื่องมรดกสถาปัตยกรรมไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจําวันของเราทุกคน และอยากให้ได้เห็นโอกาสของการปรับเปลี่ยนอาคารโบราณเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ตลอดจนการพัฒนาเมืองและชุมชนด้วย

จากเรือนพักตากอากาศ สู่การเป็น ‘พิพิธภัณฑ์บ้านปาร์คนายเลิศ’

คุณวทัญญู เทพหัตถี รองประธานจัดงานสถาปนิก’63

คุณวทัญญู เทพหัตถี (รองประธานจัดงานสถาปนิก’64) สถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังการบูรณะเรือนไม้สักงามหลังนี้ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของบ้านปาร์คนายเลิศแห่งนี้อย่างละเอียด โดยเริ่มจากการเล่าเรื่องราวของเจ้าของบ้านหลังนี้ รวมถึงไลฟสไตล์การใช้ชีวิตของนายเลิศในสมัยก่อนที่นำไปสู่การออกแบบบ้านในสัดส่วนและพื้นที่ต่าง ๆ การบูรณะบ้าน และการรักษาบ้านที่มีอายุยาวนานกว่า 105 ปีนี้ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่แสดงถึงเรื่องราวในอดีตอย่าสอดคล้องกับแนวคิด “มองเก่าให้ใหม่” ที่จะเกิดขึ้นในงานสถาปนิกปีหน้านี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจและมีคุณค่ามากทีเดียว

คุณวทัญญูเล่าถึงเรื่องราวในอดีตว่า บ้านหลังนี้เป็นของ นายเลิศ เศรษฐบุตร หรือ พระยาภักดีนรเศรษฐ คนไทยเชื้อสายจีน ที่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมทีนายเลิศมีบ้านอยู่แถวเจริญกรุง ท่านเป็นพ่อค้าคนหนึ่งที่มีความขยันและทำธุรกิจค้าขายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการขายน้ำมัน ขายจักรยาน ขายจักรเย็บผ้า และมีห้างใหญ่เป็นของตัวเอง ช่วงเวลาหนึ่งท่านได้หันมาทำธุรกิจอันเป็นที่มาของบ้านปาร์คนายเลิศแห่งนี้ นั่นก็คือ ธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง เนื่องจากในสมัยก่อนคนจะสัญจรไปไหนมาไหนด้วยการเดิน หรือถ้าเป็นคนที่พอมีเงินหน่อยก็จะสัญจรด้วยรถเจ๊ก นายเลิศจึงเกิดความคิดว่าควรจะสร้างรถโดยสารสาธารณะ ท่านจึงเริ่มต้นธุรกิจจากรถม้าก่อน โดยมีรถม้าให้เช่า จากนั้นก็พัฒนามาเป็นธุรกิจรถเมล์ขาว โดยสั่งซื้อเครื่องยนต์มาและประกอบเข้ากับตัวรถที่ทำมาจากไม้สัก ก่อนได้มีการพัฒนามาเป็นรูปแบบรถเมล์ที่เราใช้กันในปัจจุบัน

นอกจากการทำธุรกิจมากมายแล้ว นายเลิศยังมีความชื่นชอบในการใช้ชีวิตแบบคนสมัยใหม่ด้วย ท่านมักจะชอบปิกนิกเป็นกิจวัตรในวันหยุด ดังนั้น ท่านจึงได้ซื้อที่ดินบริเวณ ‘ทุ่งบางกะปิ’ ที่มีสภาพเป็นท้องนาแห่งนี้เอาไว้ เพื่อจัดสรรพื้นที่ทั้งหมดให้กลายเป็นสถานที่สำหรับบ้านพักตากอากาศ โดยมีการตัดถนน ขุดคลอง อาทิ คลองสมคิด คลองต้นสน รวมไปถึงการนำต้นจามจุรีมาปลูกตามถนนวิทยุด้วย ทำให้ถนนแห่งนี้มีความร่มรื่น ร่มเย็นด้วยเงาไม้ และเนื่องจากจุดประสงค์แรกของการสร้างบ้านหลังนี้คือ เพื่อใช้เป็นบ้านพักตากอากาศ ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่ออยู่อาศัย ดังนั้น การออกแบบบ้านจึงเป็นแบบบ้านยกใต้ถุน ไม่มีฝาบ้าน เป็นที่โล่ง ๆ พอถึงวันหยุดนายเลิศกับครอบครัวก็จะมานั่งกับพื้นสบาย ๆ เรียบง่าย ๆ เพื่อใช้เวลาพักผ่อน นอกจากตัวเรือนก็ยังมีพื้นที่ 30 กว่าไร่ ที่ถูกนำมาสร้างเป็นสวนขนาดใหญ่ เพื่อใช้เป็นที่พักผ่อนของท่านกับครอบครัว และยังอนุญาตเปิดให้คนทั่วไปมาปิคนิค พายเรือ ว่ายน้ำ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในสวนของท่านได้ในวันหยุด

พอเวลาผ่านไป บ้านเมืองเจริญเติบโตขึ้น แถวเจริญกรุงก็อยู่ไม่สบายเพราะเริ่มแออัด วันหนึ่งนายเลิศจึงตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่บ้านปาร์คนายเลิศแห่งนี้ และได้แปลงบ้านพักผ่อนให้กลายเป็นบ้านอยู่อาศัย ซึ่งในสมัยก่อนยังไม่มีถนน การเดินทางมายังบ้านหลังนี้จึงต้องอาศัยเรือลอยลำผ่านคลองมหาอำนาจเข้าสู่คลองแสนแสบ นายเลิศจึงสั่งให้ขุดคลองตัดเข้ามาในบริเวณบ้านหลังนี้ด้วย ซึ่งปัจจุบันในบริเวณบ้านปาร์คนายเลิศแห่งนี้ก็ยังหลงเหลือคลองส่วนหนึ่งเอาไว้ และมีเรืออยู่ 2 ลำซึ่งเป็นเรือไม้สักที่นายเลิศต่อไว้เอง

เรื่องเล่าในอดีตเกี่ยวกับบ้านหลังนี้ยังมีอีกมากมาย เล่ากันว่าในอดีตบ้านหลังนี้เองเคยผ่านช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาอย่างหนักหน่วงเช่นกัน เนื่องจากบ้านหลังนี้อยู่ใกล้กับสถานีมักกะสัน ซึ่งเป็นเป้าหมายจริง ๆ ในการทิ้งระเบิดโดยทหารญี่ปุ่น ทำให้โดนลูกหลงไปด้วยจนบ้านเสียหายพังไปทั้งหลัง ซึ่งจุดที่เป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงหลุมระเบิดในครั้งนั้นก็คือ บ่อบัว ที่ตั้งอยู่ข้างหน้าเรือนนี้เอง ความรุนแรงทำให้บ้านที่อยู่ในส่วนใกล้กันพังเสียหายทั้งหลัง เหลือแต่กองไม้กับหมวกหนึ่งใบที่น่าจะปลิวออกมาจากบ้านตอนระเบิดลง

อาคารโบราณที่บ้านปาร์คนายเลิศแห่งนี้ ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน อาคารหนึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้อยู่อาศัย กับอีกอาคารหนึ่งสร้างขึ้นเฉพาะเพื่อเป็นห้องนอน หลังจากนายเลิศสิ้นไป ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ลูกสาวคนเดียวของท่านก็ได้มาดูแลและอยู่ต่อแทนคุณพ่อคุณแม่ ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์แต่งงานกับคุณวินิจซึ่งเป็นสถาปนิก และเป็นอดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร คุณวินิจชื่นชอบของเก่าและได้ปรับปรุงบ้านหลังนี้หลายครั้ง อย่างกระเบื้องหลังคาเขียวที่คล้ายกระเบื้องวัดก็ได้มาจากการปรับปรุงบ้านตามความต้องการของคุณวินิจ ต่อมาในยุคปัจจุบัน ก็ได้มีการบูรณะปรับระดับความสูงของเรือนทั้ง 2 ขึ้นประมาณหนึ่งเมตรครึ่ง เพื่อให้เป็นประโยชน์มากขึ้นกับการใช้สอย และหลังจากการปรับปรุงบ้านเสร็จสิ้น สถานที่แห่งนี้ก็เปิดให้คนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ และยังใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญ ๆ อย่างพิธีหมั้น หรือพิธีแต่งงานแบบไทย ๆ ซึ่งยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสถานที่ไว้เป็นอย่างดี

และล่าสุดนี้ บ้านปาร์คนายเลิศ ยังได้เป็นสถานที่จัดงานแถลงข่าว งานสถาปนิก’64 “มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage” เมื่อไม่นานมานี้อีกด้วย เนื่องจากเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นในด้านการอนุรักษ์อาคารเก่า รวมถึงการปรับปรุงให้ที่พักอาศัยกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดประจำงานสถาปนิก’64 ที่เน้นเรื่องการมองมรดกในแง่มุมใหม่ ผู้ที่สนใจสามารถพบกับเรื่องราวของมรดกทางสถาปัตยกรรมและเรื่องราวของมรดกที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันได้ที่งานสถาปนิก'64 "มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage" จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 มิถุนายนนี้ ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

bottom of page