top of page

เรียนรู้ชุมชนเพื่อพัฒนา เพิ่มคุณค่าให้พื้นที่ โดยกลุ่ม MOR AND FARMER, CROSS AND FRIEND และกลุ่มสนใจ


แนวคิดออกแบบ ASA-CAN ในงานสถาปนิก’61

เนื้อหานิทรรศการในพาวิเลียนนี้ต้องการนำเสนอเรื่องราวกิจกรรมของ ASA-CAN โดยมีวัสดุไม้ไผ่เป็นตัวเชื่อมระหว่างหัวใจสำคัญ Vernacular Living กับงานสถาปนิกชุมชน ดังนั้น ภายในจึงมีการนำเสนองานกิจกรรมของกลุ่มในรูปแบบวิดีโอและสื่อดิจิตอล (digital platform) ส่วนการออกแบบพาวิเลียนได้นำไม้ไผ่มาขึ้นเป็นโครงสร้างประกอบการยึดด้วยลวดสลิง โดยทดลองใช้วัสดุ 2 ชนิดที่มีความแตกต่างกันให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ ผลลัพธ์ที่ได้จึงเกิดเป็นลักษณะโมดูล 1 X 1 เมตร ทรงลูกบาศก์ง่ายๆ สำหรับจัดวางเป็นพื้นที่สาธารณะ ส่วนพื้นที่ตรงกลางจัดเรียงด้วยเสื่อไม้ไผ่ และ bean bag เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้ามานั่งเล่น พบปะพูดคุยและแสดงความคิดเห็นกันนั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่า ทรัพยากรธรรมชาติมักถูกมองว่าเป็นวัสดุพื้นถิ่น แต่หน้าที่ของสถาปนิกคือต้องแสวงหาแนวทางและวิธีการใหม่ๆ ในการใช้ทรัพยากรให้เกิดการหมุนเวียนได้เรื่อยๆ เพื่อให้วัสดุพื้นถิ่นคงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน นี่คือเจตนารมณ์ของทั้งสามกลุ่มที่ต้องการถ่ายทอดในนิทรรศการครั้งนี้

ร่วมมือร่วมแรง

กรรมาธิการสถาปนิกชุมชน สมาคมสถาปนิกสยามฯ (ASA-CAN) เป็นกลุ่มสถาปนิกที่ใช้องค์ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาต่อยอดเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาพื้นที่ที่อยู่อาศัยในชุมชนทั้งในระดับหมู่บ้านและในระดับเมือง

ธาริต บรรเทิงจิตร และภาสุร์ นิมมล จากกลุ่ม MOR AND FARMER, วิธีวิสุทธิ์ อัมพร, อภิชาติ รุ่งแสงวีรพันธ์ และฐากูร ลีลาวาปะ จากกลุ่ม CROSS AND FRIENDS รวมถึง ณัฐวดี สัตนันท์ จากกลุ่มสนใจ ก็เป็นหนึ่งใน ASA-CAN ที่เคยทำงานร่วมกันในระดับชุมชนอยู่แล้ว

ร่วมกันค้นหาความหมายของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในวิถีชีวิตร่วมสมัยได้ในงานสถาปนิก’61 วันที่ 1-6 พ.ค.61 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

 

bottom of page