top of page

สถาปัตยกรรมล้านนาโคโลเนียล ความสง่างามแห่งเมืองเชียงใหม่



คำว่า Colony ในภาษาอังกฤษ แปลว่า อาณานิคม เมืองขึ้น หรือหัวเมืองประเทศราช ส่วนคำว่า Colonial นี้เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า เกี่ยวกับอาณานิคม ดังนั้นคำว่า Colonial Style จึงหมายถึงศิลปะแบบอาณานิคม ซึ่งในยุคล่าอาณานิคมมหาอำนาจชาวตะวันตก เช่น โปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ ได้เข้ามาปลูกสร้างอาคารต่าง ๆเอาไว้ในเมืองขึ้นของตน กล่าวคือ Colonial Style เป็นศิลปะแบบตะวันตกชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นในช่วงล่าอาณานิคม ซึ่งพบเห็นได้ในแถบประเทศเพื่อนบ้านของเรา


ประเทศไทยแม้จะไม่เคยเป็นอาณานิคมของใคร แต่ก็ปรากฏสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในหลายพื้นที่ด้วยเช่นกัน อันเป็นผลมาจากการทำสัญญาจ้างกับชาวตะวันตกในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 ให้เข้ามาออกแบบก่อสร้างสถาปัตยกรรม เพื่อสร้างภาพความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศไทย ในช่วงเวลาดังกล่าว สถาปนิก วิศวกร ปฎิมากร จิตรกร และมัณฑนากรชาวตะวันตกจึงได้เข้ามาทำงานในราชสำนักเป็นจำนวนมาก นำมาสู่การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกลิ่นอายตะวันตกเข้ากับอัตลักษณ์พื้นถิ่นในทั่วทุกภูมิภาค ก่อเกิดเป็น Colonial style ของแต่ละพื้นที่ที่ก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของช่างพื้นถิ่นที่เข้าไปผสมอยู่ด้วย และผู้คนในสมัยนั้นก็มักจะเรียกสถาปัตยกรรมรูปแบบโคโลเนียลสไตล์ที่เริ่มแพร่ขยายเข้ามาสู่ประเทศไทยกันอย่างติดปากว่า “ตึกฝรั่ง” จังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นส่วนหนึ่งในอาณาจักรล้านนาสมัยนั้นก็ได้รับสถาปัตยกรรมแบบ Colonial style มาเช่นกัน เกิดเป็น “สถาปัตยกรรมล้านนาโคโลเนียล” ที่มีลักษณะและวิวัฒนาการไปในหลายรูปแบบ เช่น แบบ ‘เรือนปั้นหยา’ เรือนพักแบบยุโรปรุ่นแรก, แบบ ‘เรือนมะนิลา’ ที่สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และ แบบ ‘เรือนขนมปังขิง’ ที่รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมยุควิคตอเรียนที่ตกแต่งอย่างหรูหรา เน้นการประดับลวดลายฉลุไม้


แม้เวลาจะผ่านมาหลายศตวรรษ แต่สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ก็ยังคงฝังรากแน่นอยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนเมืองเชียงใหม่ได้อย่างกลมกลืน และมีคุณค่า ในปัจจุบัน เราสามารถพบเห็นและสัมผัสกับสถาปัตยกรรมล้านนาโคโลเนียลที่สง่างามในจังหวัดเชียงใหม่ได้ได้ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น คาเฟ่ ร้านอาหาร โรงแรม ร้านค้า ที่พัก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นมรดกที่มีค่า และช่วยเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้เราได้ระลึกถึงอดีตได้เป็นอย่างดี


The Service 1921 Restaurant & Bar

อาคารทรงโคโลเนียลซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงแรมอนันตรา เชียงใหม่ รีสอร์ท แอนด์ สปา ใกล้กับริมแม่น้ำปิงอันเงียบสงบแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อ 74 ปีก่อน หรือประมาณ พ.ศ. 2458 ในสมัยนั้นผู้ครอบครองที่ดินผืนนี้ก็คือรัฐบาลอังกฤษ โดยเปิดใช้อาคารโคโลเนียลนี้เป็นสถานกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2464 การออกแบบตัวอาคารถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เหมาะกับสภาพอากาศของเมืองร้อน และมีการสร้างระเบียงไว้รอบตัวอาคารเพื่อรับลมจากแม่น้ำ นอกจากนี้ อาคารนี้ยังถูกใช้เป็นที่พำนักของครอบครัวกงสุล ใช้เป็นสำนักงาน ห้องพิจารณาคดี ศูนย์ข้าราชการ และยังมีโรงเลี้ยงช้างในพื้นที่ของสถานกงสุลอีกด้วย


ปัจจุบันอาคารหลังนี้ได้มีการตกแต่งทั้งภายในและภายนอกเพิ่มเติมโดยยังคงสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลเอาไว้ และสร้างเป็นห้องอาหารชั้นยอดภายใต้ชื่อ The Service 1921 Restaurant & Bar ที่คอยนำเสนออาหารรสเลิศให้แก่แขกผู้มาเยือนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ภายใต้บรรยากาศสำนักงานสายลับอังกฤษในยุคอดีต


สัมผัสประสบการณ์ความลึกลับแบบองค์กรสายลับในห้องอาหารแห่งนี้ได้ทุกวัน ตั้งแต่ 11:30 - 01:00 น. ณ โรงแรมอนันตรา เชียงใหม่ รีสอร์ท แอนด์ สปา โทร. 053-253-333 และดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ website: service1921.com และ facebook: TheService1921


ระมิงค์ทีเฮาส์ สยามศิลาดล

ตึกสีขาวที่ตั้งของ ‘ระมิงค์ทีเฮาส์ สยามศิลาดล’ ตั้งอยู่บนถนนท่าแพ ที่แห่งนี้เคยเป็นบ้านคหบดีชาวจีนท่านหนึ่ง มาก่อน ตัวบ้านมีอายุร่วม 100 ปี ต่อมาได้รับการปรับปรุงเป็นร้านขายเครื่องถ้วยเซรามิคของ บริษัท สยามศิลาดล และแบ่งพื้นที่ด้านหลังร้านเป็น Tea House สวย ๆ บรรยากาศคลาสสิก ให้บริการชาร้อนและเย็นนานาชนิด นอกจากนี้ยังมีกาแฟ อาหารว่าง ขนมหลากชนิด รวมถึงอาหารจานเดียวบางประเภท คอยบริการลูกค้าและนักท่องเที่ยวด้วย ที่นี่มีทั้งโต๊ะที่จัดไว้ในตัวบ้าน และบริเวณสวนร่มรื่นหลังบ้าน สามารถเลือกนั่งได้ตามใจชอบ


ระมิงค์ทีเฮาส์ สยามศิลาดล เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 8:30 น. - 18:00 น. ติดตาม facebook: facebook.com/Raming-Tea-House-Siam-Celadon โทร. 053-234518


กิติพาณิช อาหารล้านนา

ร้านอาหารล้านนา กิติพาณิช ตั้งอยู่บนถนนท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ในอดีตอาคารแห่งนี้เคยเป็นห้างมาก่อน เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ.2447 ในยุคสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ห้างกิติพาณิชเป็นของเถ้าแก่เจี๊ยว กิติบุตร คหบดีชาวเชียงใหม่ ภายในห้างมีจหน่ายตั้งแต่เครื่องแต่งกายบุรุษสตรี เครื่องออกกำลังกาย เครื่องกลไกเด็กเล่น เครื่องประดับบ้าน เครื่องภาชนะใช้สอย เครื่องแก้วเจียระนัย เครื่องหอม น้ำหอม สบู่ เครื่องเหล็ก ไปจนถึงเครื่องมือเครื่องใช้อื่น ๆ อีกมาหมาย ห้างนี้เป็นบ้านของตระกูลใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ คือ ตระกูลกิติบุตร โดยเริ่มต้นจากนาย กีตี๋ หรือ กิติ อพยพมาจากเมืองจีน มาค้าขายในเมืองเชียงใหม่ ก่อนจะตั้งรากฐานสร้างครอบครัวที่นี่


เรื่องราวและเวลาผ่านไปกว่า 150 ปี ตึกเก่าแห่งนี้จึงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยการบูรณะจากทายาทรุ่นใหม่ และสร้างเป็นร้านอาหารล้านนาแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีบรรยากาศงดงาม คลาสสิค และเต็มไปด้วยร่องรอยแห่งอดีต


ติดตามร้านอาหารล้านนากิติพาณิชได้ที่ website: kitipanit.com และ facebook: facebook.com/kitipanit ที่นี่เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 11:30 น. - 23:00 น. โทร. 088-9497996


บ้านอรพินท์ เฮอร์ริเทจ

บ้านอรพินท์ เรือนไม้สีขาวหลังงามแห่งนี้คือ เกสต์เฮาส์ที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญราษฎร์ ตำบลวัดเกต จังหวัดเชียงใหม่ ที่นี่ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2457 เป็นสไตล์โคโลเนียลตามแนวทางการก่อสร้างในยุคสมัยรัชกาลที่ 6 วัสดุหลักของการสร้างบ้าน คือ ไม้สัก และได้มีการเพิ่มการตกแต่งด้วยลายฉลุ การแกะสลักไม้ และรายละเอียดการออกแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบล้านนาเข้าไป โดยฝีมือช่างจากเมืองจีน


เดิมทีบ้านหลังนี้เป็นบ้านที่ปลูกสร้างขึ้นเพื่ออยู่อาศัยและใช้ประกอบอาชีพขนส่งสินค้า โดยเป็นที่เก็บสินค้าเพื่อรอจำหน่าย ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2531 ได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในบ้าน โดยการปลูกบังกะโลเล็ก ๆ รอบ ๆ บ้านหลังใหญ่เพื่อปล่อยเช่ารายเดือน ให้นักเรียน นักศึกษา พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของในตลาดวโรรส (กาดหลวง) มาเช่าอยู่อาศัย


ปัจจุบันบ้านอรพินท์ เฮอร์ริเทจฯ มีห้องพักแบ่งได้เป็น 3 อาคาร รวม 15 ห้อง อาคารแรกถูกสร้างใน พ.ศ. 2547 จากบังกะโลปล่อยเช่าที่สภาพเริ่มทรุดโทรมเปลี่ยนเป็นอาคารที่พักใหม่ โดยสร้างอาคารบนพื้นฐานของสถาปัตยกรรมสมัยปัจจุบัน แต่เพิ่มเติมรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อทำให้อาคารนี้ยังมีความเป็นอาคารแบบล้านนา


ทุกห้องถูกออกแบบและตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมล้านนา และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น เครื่องปรับอากาศ สัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สาย ตู้เซฟ เครื่องชงกาแฟและชา และ บริเวณนอกห้องที่เป็นส่วนตัว อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบ้านอรพินท์ เฮอร์ริเทจ ได้ที่ website: baanorapin.com และ facebook: baanorapin


ร้านอาหารเดอะแกเลอรี่

อาคารหลังนี้ตั้งอยู่บนถนนเจริญราษฎร์ ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2432 โดย อาก๋ง เนี่ยวอุย แซ่ เหลี่ยว ซึ่งมาตั้งรกรากที่เชียงใหม่ทำการค้าขายและเปิดร้านค้า ชื่อ ร้าน “เหลียวย่งง้วน” (อักษรจีนที่ติดอยู่ด้านเหนือประตูทางเข้า) ช่างที่ทำการก่อสร้างเป็นช่างมาจากเมืองจีน ตัวอาคารจึงมีลักษณะเป็นแบบจีน และใช้เวลาในการก่อสร้างนานมาก เพราะต้องใช้ความชำนาญและฝีมือที่ละเอียดอ่อน โดยเฉพาะรูปปูนปั้นที่ติดผนังบนประตูด้านหน้า


ด้านหลังของตัวอาคารเป็นไม้สัก ลักษณะเป็นแบบล้านนาในสมันนั้น ดังนั้น ตัวอาคารทั้งหมดจึงออกมาเป็นลักษณะผสมผสานกันระหว่าง จีน และ ล้านนา หลังบ้านที่เป็นชานไม้ในตอนนี้ ในอดีตเคยมีไม้กระดานทอดลงสู่แม่น้ำเพื่อใช้ติดต่อทางการค้า เนื่องจากการค้าขายทางน้ำเป็นสิ่งสำคัญมากในสมัยนั้น ดังนั้น แม่น้ำจึงถูกใช้เป็นเส้นทางหลักในการสัญจรไปมา หรือติดต่อค้าขายไปจนถึงปากน้ำโพ (นครสวรรค์) และกรุงเทพฯ


ด้านข้าง จะเป็นท่าน้ำที่ใช้สำหรับขนส่งสินค้าที่มาจากทางเหนือและใต้ และเป็นท่าขนส่งไม้ซุงด้วย โดยจะใช้ช้างลากขึ้นมาจากน้ำ ดังนั้น ท่าน้ำตรงนี้จึงมีชื่อเรียกกันว่า “ท่าช้าง”

อาคารหลังนี้ได้เป็นที่อยู่อาศัยของอาก๋ง เนี่ยวอุย จนถึงรุ่นลูกและรุ่นหลานของอาก๋ง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2521 ครอบครัวจึงได้ย้ายไปอยู่ที่ใหม่ เพราะตัวอาคารหลังนี้เก่าแก่และสร้างมานานแล้ว อาคารหลังนี้จึงว่างและถูกใช้เป็นโกดังเก็บของแทน


จนเมื่อปี พ.ศ. 2532 รุ่นหลานของอาก๋ง เนี่ยวอุย ได้กลับมาบูรณะอาคารหลังนี้ เพื่อคงไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้เห็นและสืบทอดมรดกความเป็นมาของบ้านหลังนี้ต่อไป ใช้เวลาในการซ่อมแซมประมาณ 6 เดือน อาคารเก่าหลังนี้จึงกลับมามีสภาพเดิม เมื่อการบูรณะเสร็จสิ้นจึงเปิดเป็นร้านอาหารที่ด้านหลัง และเป็นห้องแสดงภาพวาดของเหล่าศิลปินต่าง ๆ บริเวณทางด้านหน้า เดอะแกลลอรี่ จึงได้ก่อตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา

ติดตาม ร้านอาหารเดอะแกเลอรี่ ได้ที่ website: thegallery-restaurant.com facebook: byriverping โทร. 053-248602


การบูรณะและแบ่งปันพื้นที่สวยงามเหล่านี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “การมองมรดกในแง่มุมใหม่” อย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อทิศทางในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าแก่ให้สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมไทยได้อย่างลงตัว เพราะการทำให้คนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมและเข้าถึงคุณค่าของบรรยากาศในอดีตเหล่านั้นได้อย่างเป็นธรรมชาติ จะช่วยสร้างคุณค่าของความเก่าให้เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ได้


ใครที่สนใจในงานสถาปัตยกรรมเก่าและการอนุรักษ์ สามารถพบกับเรื่องราวของมรดกทางสถาปัตยกรรมและเรื่องราวของมรดกที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันได้ที่งานสถาปนิก'64 "มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage" จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 มิถุนายนนี้ ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

bottom of page