น้อยคนนักที่จะทราบว่าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทที่เห็นในทุกวันนี้ แท้จริงแล้วได้รับการซ่อมสร้างครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 7 หาใช้รูปแบบดั้งเดิมที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นิทรรศการนี้จะพาทุกท่านไปพบกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของการบูรณะปฏิสังขรณ์ที่เปลี่ยนพระที่นั่งฯ องค์นี้ จนเกิดความเป็นลูกผสมที่มากกว่าแค่ในเชิงรูปแบบ หากยังผสมผสานทั้งในทางโครงสร้าง การประดับตกแต่ง และเทคนิคการก่อสร้าง
นิทรรศการในหัวข้อ “พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท: ความเป็นลูกผสมที่มากกว่ารูปแบบ” ที่จะจัดแสดงในงานสถาปนิก'64 นี้แสดงโครงการซ่อมแปลงสถาปัตยกรรมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และนายช่างชาวไทยคนอื่น ๆ กับทีมนายช่างอิตาเลียนที่รับราชการอยู่ในศิลปากรสถาน ราชบัณฑิตยสภา เนื้อหานิทรรศการนำเสนอประวัติความเป็นมาในการบูรณะพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ผ่านหุ่นจำลองทางสถาปัตยกรรมที่รับการศึกษาจากเอกสารการก่อสร้าง, ภาพลายเส้น, แบบสถาปัตยกรรม, และภาพถ่ายเก่า อันแสดงให้เห็นผลงานสถาปัตยกรรมเครื่องยอดที่เป็นการบูรณาการระหว่างองค์ความรู้เชิงช่างแบบไทยและเทคนิควิทยาการแบบตะวันตกเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย
จัดโดย
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
สถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยศิลปากร
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
Exhibition Curators
พินัย สิริเกียรติกุล
พีระพัฒน์ สำราญ
บุณยกร วชิระเธียรชัย
งานสถาปนิก'64 "มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage" จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 มิถุนายนนี้ ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี