Living Space Pavilion เป็น 1 ใน 5 นิทรรศการหลักภายในงานสถาปนิก '61 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงพื้นที่อยู่อาศัยในวิถีพื้นถิ่น ออกแบบโดยสถาปนิกมือรางวัลอย่าง บุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ จาก Boon Design
การใช้ดินเป็นวัสดุในการก่อสร้างอาคาร เป็นภูมิปัญญาที่มีมาแต่บรรพกาล ผู้ออกแบบนำวัสดุที่สุดจะถ่อมตนอย่างดิน มาสร้างเป็นพาวิเลียน นำเสนอรูปแบบบ้านดินแบบใหม่ นำดินมาผสมผสานกับโครงสร้างที่ทำจากลังผลไม้ที่มีคุณสมบัติจับดินได้ แล้วใช้ดินเป็นตัวประสานให้เกิดความคงทนแข็งแรง ผู้ออกแบบต้องการสื่อให้เห็นเนื้อแท้แห่งวัสดุ ผสมผสานวัสดุที่มีอยู่ มาสร้างให้เกิดผลลัพธ์ใหม่
นอกจากนี้ ยังถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผู้เข้ามาในพาวิเลียน ได้ตระหนักรู้ถึงดินที่สามารถทำเป็นกำแพงปิดกั้น เป็นบันได เป็นที่นั่ง-นอนได้ไม่ต่างกับวัสดุอื่นๆ ดินที่บุญเลิศใช้จึงแสดงให้เห็นถึงความธรรมดาที่มีความพิเศษอยู่ในตัว อย่างที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงมุมมองของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไว้ว่า “ทุกอย่างบนโลกนี้มีโอกาสอยู่ในทุกสิ่ง ขอให้มีปัญญาเห็น เราจะทำได้เอง”
“ทุกอย่างบนโลกนี้มีโอกาสอยู่ในทุกสิ่ง
ขอให้มีปัญญาเห็น เราจะทำได้เอง”
บุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์, Boon Design
เกี่ยวกับ Boon Design
บุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิก Boon Design เชื่อว่าต้องมองหาความพิเศษในเรื่องของธรรมดา เมื่อเห็นความพิเศษนั้นแล้วจึงนำมาแปรเปลี่ยนเป็นพลังสร้างสรรค์
หลังจากจบการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ Bartlett School, University College London บุญเลิศกลับมาทำงานออกแบบที่ประเทศไทยในปี 2537 ลักษณะของงานออกแบบของ Boon Design ให้ความสำคัญกับความเรียบง่าย ผสมผสานความร่วมสมัยให้เข้ากับองค์ประกอบพื้นถิ่นที่สะท้อนอยู่ในบริบทของอาคาร
ผลงานล่าสุดที่น่าจับตามอง
การออกแบบโรงแรม รายา เฮอริเทจ จังหวัดเชียงใหม่ เขานิยามว่าเป็นสไตล์พื้นถิ่น หยิบวิถีการใช้ชีวิตของบรรพบุรุษมายึดเป็นแบบแผน ถ่ายทอดผ่านวัสดุที่ชาวบ้านทั่วไปใช้กัน ตัวโรงแรมไม่ต้องการเรียกร้องความสนใจแต่ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกอิ่มเอม โดยคำนึงถึงองค์ประกอบทางศิลปะ เช่น การปูอิฐที่ทำให้เหมือนสายน้ำ เพื่อสร้างความสอดคล้องกับโรงแรมริมแม่น้ำให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน
Comentários