top of page

นิยามของสเปซที่แตกต่าง ภายใต้ความคิดสร้างสรรค์ที่สดใหม่ โดย วรพงศ์ มนูพิพัฒน์พงศ์ และอดา จิระกรานนท์


แนวคิดออกแบบ Mor-Baan ในงานสถาปนิก’61

ด้วยเพราะ ‘ไม้’ เป็นวัสดุหลักของโครงสร้าง Mor-Baan ทั้งนี้ Atelier2+ จึงหยิบนำเอาไม้หล่อแบบ ไม้ค้ำยัน หรือในความรับรู้ของคนทั่วไปคือไม้ที่ใช้ทำนั่งร้านในการก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นวัสดุที่มีความสำคัญแต่ไม่เคยถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบหลักของงานสถาปัตยกรรมในการต่อยอดสร้างพาวิเลียน ขณะเดียวกันความต้องการของ Atelier2+ คือการใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงพยายามหาวิธีให้ไม้ถูกตัดน้อยครั้งที่สุด พร้อมกับสร้างภาพลักษณ์ใหม่ในการนำเสนอสภาพแวดล้อมแบบป่าที่คนสามารถนั่งได้รอบๆ จนเกิดเป็นคอมมูนิตี้ที่น่าสนใจ

การเดินทางของ Atelier2+

Atelier2+ คือสตูดิโอที่ขึ้นชื่อในเรื่องผลงานการออกแบบจากหลากหลายสาขาที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์สดใหม่ และเทคนิคเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร มุ่งเน้นเรื่องการใช้สเปซในสเกลต่างๆ ตั้งแต่งานสถาปัตยกรรม งานออกแบบภายใน งานเฟอร์นิเจอร์รวมไปถึงงานอินสตอลเลชั่น โดดเด่นด้วยการผสมผสานดีเทลของงานสถาปัตยกรรมเข้าไปคาบเกี่ยวและมีจุดร่วมอย่างแนบแน่น

วรพงศ์ มนูพิพัฒนพงศ์ และอดา จิระกรานนท์ ร่วมกันก่อตั้ง Atelier2+ ขึ้นเมื่อปี 2010 ทั้งคู่จบ Interior Architecture ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากนั้น วรพงศ์ไปเรียนต่อด้าน Fine Arts ที่สหรัฐอเมริกา และสถาปัตยกรรมที่เนเธอร์แลนด์ ก่อนจะแท็คทีมจับมือกันไปต่อปริญญาโทที่ Konstfack University College of Arts, Crafts and Design ประเทศสวีเดน โดยอดาเลือกเรียน Textile ส่วนวรพงศ์ ให้ความสนใจกับอินทีเรียร์และเฟอร์นิเจอร์ ดีไซน์

ผลงานสร้างชื่อของ Atelier2+

สำหรับ Atelier2+ ผลงานเป็นที่ปรากฏมากมายทั้งในและต่างประเทศ แต่งานออกแบบที่โดดเด่นมักเป็นเฟอร์นิเจอร์ อาทิเช่น Greenhouse เทอราเรียมปลูกต้นไม้ที่ไม่ได้เป็นเพียงเฟอร์นิเจอร์ แต่เป็นการสร้าง extra space พื้นที่สีเขียวให้กับภายในบ้าน ซึ่งออกแบบให้กับแบรนด์ Design House Stockholm , Habitat และ Kiln ตู้ไม้และชั้นวางของ ที่ร่วมมือกับแบรนด์ Yarnnakarn Art & Craft Studio รวมถึง Cane Collection ชุดเฟอร์นิเจอร์หวายสะท้อนความคลาสสิกในยุคโคโลเนียล ที่ทำให้กับแบรนด์ Podium

 

อาจสรุปได้ว่า แนวคิดของ Atelier2+ คือการนำความธรรมดาของรากเหง้าที่ถูกมองข้าม มาสอดแทรกลูกเล่นให้เกิดคาแรกเตอร์ใหม่ โดยทั้งคู่มองว่าสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างความแตกต่างในงานดีไซน์ระดับโลกได้นั่นเอง

 

ร่วมกันค้นหาความหมายของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในวิถีชีวิตร่วมสมัยได้ในงานสถาปนิก’61 วันที่ 1-6 พ.ค.61 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

 

bottom of page