top of page

การสร้างสถาปัตยกรรมที่ไร้สถาปนิก ในมุมมองของ เสก สิมารักษ์ จาก SAR


แนวคิดออกแบบ ASA Crew Pavilion ในงานสถาปนิก’61

จากแนวคิดข้างต้น เป็นจุดเชื่อมโยงให้เขานำเรื่องการเปลี่ยนใช้วัสดุในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาใช้ในพาวิเลียน ASA Crew จากอิฐธรรมดาที่มีน้ำหนัก นำกลับมาคิดใหม่ทำใหม่ โดยถูกทดแทนด้วยโฟม Expanded Polystyrene Foam (EPS) ที่มีความหนาแน่นสูงและไม่ลามไฟ เริ่มจากการตัดโฟมเป็นชิ้นๆ ในลักษณะเดียวกับอิฐมาวางต่อเรียงกันเฉกเช่นในไซต์ก่อสร้าง เพื่อให้คนรู้สึกคุ้นชิน เหมือนตอนเด็กๆ ที่เข้าไปเล่นในกองอิฐ กองทราย นอกจากนี้ ยังต้องการสื่อว่าโฟม 2 ชิ้นมีน้ำหนักเท่ากับอิฐ 1 ก้อน ในขณะเดียวกันยังให้ความรู้สึกของวัสดุอิฐอยู่ พาวิเลียนนี้จึงตั้งใจออกแบบให้ผู้ที่เข้าชมงานสามารถเข้ามานั่งพัก มองเห็นเนื้อหาของวารสาร ASA Crew และมุ่งหวังให้ผู้ชมตระหนักถึงวัสดุประเภทอิฐที่สามารถถูกทดแทนด้วยวัสดุประเภทอื่นได้เช่นเดียวกัน

จากอิฐธรรมดากลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดา ซึ่งเสกสะท้อนให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่สิ่งที่จับต้องไม่ได้ เราสามารถมองเห็นคุณค่าของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเดิมและใช้ความรู้เพิ่มเติมสร้างสถาปัตยกรรมในแบบของตนเองได้

 

ถึงจะมีอาชีพเป็นสถาปนิกแต่ เสก สิมารักษ์ กลับคิดว่า หน้าที่ของสถาปนิกคือการสร้างสถาปัตยกรรมที่ไร้สถาปนิก

 

เสกจบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปริญญาโทด้านเดียวกันที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันเป็น Principal Architect ที่ SAR (เสก สถาปัตย์) เขาขยายความคิดสถาปัตยกรรมไร้สถาปนิกว่า สถาปนิกไม่ควรจะเห็นว่าตัวเองเป็นสถาปนิก แต่ควรมองเห็นสภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไป และควรจะถามตัวเองว่าเมื่อออกแบบสถาปัตยกรรมที่ไม่มีสถาปนิกแล้วจะเป็นอย่างไร? เพราะสุดท้ายแล้วการอยู่อาศัยไม่ได้จำกัดอยู่ที่ผู้ออกแบบ แต่ขึ้นกับผู้อาศัยมากกว่า

ผลงานที่น่าติดตาม

Class Café Buriram คือผลงานล่าสุดที่น่าสนใจของเขา เสกเนรมิตอาคารเก่าด้วยการตกแต่งใหม่โดยใช้เมทัลชีท เสกเล่าว่าถ้าเรามองแบบไม่จำกัดความคิด วัสดุพื้นถิ่นต้องเกิดจากธรรมชาติ เมทัลชีทที่เขานำมาใช้จากจังหวัดบุรีรัมย์ ก็ถือเป็นวัสดุพื้นถิ่นเช่นกัน เดิมเมทัลชีทมักถูกนำมาสร้างเป็นหลังคา แต่เขาประยุกต์ใหม่ใช้เป็นบานเกล็ดยาวตลอดแนวผนัง ข้อดีคือถ้าชำรุดก็สามารถถอดเปลี่ยนได้ทีละแผ่น แถมการติดตั้งวัสดุนี้ยังช่วยในเรื่องของการสะท้อนความร้อนไม่ให้เข้าสู่อาคาร ที่พิเศษคือสามารถเล่นกับแสงเงาให้กับพื้นที่ได้สวยงามแปลกตา

นิยามของ ‘สถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่น’

ในความคิดของเสกสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นไม่จำเป็นต้องขึ้นหิ้ง อนุรักษ์หรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เมื่อโลกเปลี่ยนไป ถ้ายังคงยึดติดกับคำว่าอนุรักษ์จะทำให้สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นตายได้ การอนุรักษ์ในแนวคิดของเขาจึงเปลี่ยนเป็นการนำความพื้นถิ่นมาใช้อะไรได้บ้างในสถานการณ์ปัจจุบัน

ร่วมกันค้นหาความหมายของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในวิถีชีวิตร่วมสมัยได้ในงานสถาปนิก’61 วันที่ 1-6 พ.ค.61 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

 
bottom of page