top of page

คุรุสัมมนาคาร ตัวแทนสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นในเมืองไทย



หากใครได้เห็นภาพ key visual ของงานสถาปนิก’64 แล้ว อาจจะสังเกตได้ว่าในภาพนั้นประกอบด้วยอาคารที่เป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมในแต่ละยุค และหนึ่งในนั้นก็คือ ‘คุรุสัมมนาคาร’ อาคารที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในไอคอนของยุคโมเดิร์นนิสต์ในไทย

ยุคทศวรรษที่ 1960 ถือเป็นช่วงเวลาที่งานออกแบบแบบโมเดิร์นนิสต์กำลังมาแรงทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย และยุคนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญให้สถาปนิกไทยได้ฝากผลงานออกแบบไว้ โดยอาคารแบบโมเดิร์นนิสต์จำนวนไม่น้อยแทรกซึมอยู่ในสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากยุคนั้นเป็นยุคที่ประเทศไทยเริ่มพัฒนาด้านการศึกษาอย่างจริงจัง โดยมีการตั้งมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และทำให้สถาปนิกต้องรับบทสำคัญในการสร้างสรรค์สัญลักษณ์แทนภาพของการศึกษาอันทรงเกียรติให้เป็นรูปธรรม

คุรุสัมมนาคาร อาคารรูปทรงแปลกตาที่ตั้งอยู่กลางสนามหญ้าหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (เดิมคือวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) นี้ ออกแบบโดยสถาปนิก ดร. วทัญญู ณ ถลาง และนคร ศรีวิจารณ์ โดยออกแบบให้เป็นอาคารที่ประชุมของอาจารย์ (ตรงตามชื่อ คุรุ+สัมมนา+อาคาร) ตัวอาคารสร้างจากคอนกรีตสีขาวพร้อมแผ่นหลังคาโค้งไปมาในมุมต่างๆกันเป็นรูปทรง Hyperbolic Paraboloid ส่วนปลายที่พุ่งลงสู่ดินได้ถ่ายแรงจากแผ่นหลังคาลงมาสู่จุดรับหลังคาเพียงสามจุดที่วางค้ำอยู่โดยรอบ ซึ่งนับเป็นเทคนิคทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ “ล้ำ” มาก และยังคงเป็นที่กล่าวขานมาจนทุกวันนี้ โดยอาคารนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในปีพ.ศ. 2558 ด้วย

และเช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมจากอดีตแบบอื่นๆ ความนิยมของสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นนิสต์ก็เสื่อมถอยลงไปตามกาลเวลา บางแห่งจ่อคิวถูกรื้อถอน แต่จำเป็นหรือเปล่าที่การจะก้าวไปข้างหน้าต้องหมายถึงการทำลายสิ่งเก่าเสมอไป?

เพื่อสร้างความตระหนักถึงประเด็นนี้ งานสถาปนิก’64 จึงมาพร้อมกับแนวคิด “มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage” เพื่อปรับมุมมองของสถาปนิกและบุคคลทั่วไปเกี่ยวกับการอนุรักษ์และมรดกสถาปัตยกรรมอีกครั้ง โดยมุ่งชู “ความเก๋า” ใน “ความเก่า” และเชิญชวนให้ผู้เข้าชมเห็นความสำคัญของมรดกที่อยู่รอบตัว โดยงานสถาปนิก'64 "มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage" จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 มิถุนายนนี้ ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ซึ่งนอกจากจะมีนิทรรศการและเสวนาเกี่ยวกับเรื่องมรดกสถาปัตยกรรมและการอนุรักษ์แล้ว สำหรับการประกวดออกแบบของนิสิตนักศึกษาสถาปัตยกรรม ยังมีการกำหนดโจทย์ให้เป็น Heritage in Danger หรือการกู้ชีพมรดกสถาปัตยกรรมในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยด้วย รอติดตามชมกันได้ว่าคนรุ่นใหม่จะมีวิธีรักษาคุณค่าจากอดีตอย่างไรบ้าง

ภาพ: museumthailand.com, matichon.co.th, wikipedia.org


bottom of page