top of page

เจาะลึกการบรรยายโดย “Erwin Viray” ในงาน "ASA International Forum 2022”



  เจาะลึกการบรรยายโดย “Erwin Viray” ในงาน "ASA International Forum 2022” รูปแบบออนไลน์ ที่จัดขึ้นครั้งที่ 1 เมื่อวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 25

65 ภายใต้แนวคิด Co W/ Architects | Co W/ Creators: Collaboration between architects and others in the creative industry

  “Co-exist, Co-create, Co-…” เป็นหัวข้อที่ Erwin หยิบยกมาสำหรับการบรรยายในครั้งนี้ เพื่อหาคำตอบว่าอะไร? คือสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการอยู่ร่วมกัน การสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน และการทำงานร่วมกัน แล้วการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมที่ดีควรทำอย่างไร? รวมถึงการสร้างโลก สังคม และวัฒนธรรมที่ยั่งยืนนั้นจะสามารถทำได้อย่างไรบ้าง? อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ สถาปนิก นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ สามารถ Co-exist และ Co-create ในบริบททางวิชาชีพที่แตกต่างกันได้อย่างไร

  Erwin พาทุกคนมาร่วมค้นหาคำตอบผ่านตัวอย่างผลงานต่าง ๆ กับประสบการณ์ทำงานในหลากบทบาทวิชาชีพของเขา ทั้งบรรณาธิการ ภัณฑารักษ์ นักการศึกษา และนักกิจกรรม โดยปัจจุบัน Erwin Viray ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบัน Sustainability Initiatives ที่ Singapore University of Technology and Design (SUTD) ถือเป็นนักออกแบบผู้ทรงคุณวุฒิระดับโลกที่มากด้วยความรู้และประสบการณ์ โดยก่อนหน้านี้เขาดำรงตำแหน่งผู้บริหารมาแล้วมากมายในหลายสถาบัน

 

นิตยสาร a+u ฉบับที่ 558 กับการถ่ายทอดงานสถาปัตยกรรม “Elbphilharmonie” ในกรุง Hamburg


   Erwin ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสาร a+u (Architecture + Urbanism) ที่ทรงอิทธิพลมาตั้งแต่ปี 1996 ดังนั้นเขาจึงเร่ิมต้นจากตัวอย่างนิตยสาร a+u ฉบับที่ 558 ประจำเดือนมีนาคม 2017 ที่น่าสนใจเพราะนำเสนอโปรเจกท์หมายเลข 230 ของ Herzog & de Meuron นั่นคือ “Elbphilharmonie” ฮอลจัดแสดงดนตรีที่ถือเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุง Hamburg ประเทศเยอรมนี

   “สิ่งที่มีผลต่อ Co-Exist, Co-Create คือ การแบ่งปันเรื่องราวที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับผู้คน ซึ่งเป็นผู้สร้างสิ่งแวดล้อมนั้นขึ้นมา ทำให้เราตระหนักได้ว่าสถาปัตยกรรมนั้นมีความหมายมากกว่าแค่สถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียว” Erwin กล่าว

   “เราสามารถมีความสุขไปกับโลกนี้ ผ่านความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากร่างกาย ผ่านสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากความรู้สึกภายในร่างกายของเราด้วย โดยเราสามารถสร้างประสบการณ์ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ อย่าง เวลา และพื้นที่ว่าง กล่าวคือ เวลามีผลต่อการสร้างสรรค์พื้นที่ว่าง ในขณะเดียวกันพื้นที่ว่างก็เป็นส่วนหนึ่งของเวลา เมื่องานสถาปัตยกรรม ทำให้เรารู้สึกถึงสิ่งเหล่านี้ได้ เราจะมีความสุขกับสิ่งรอบตัว นี่จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่าทำไมเราถึงได้สร้างสรรค์ a+u ฉบับ Herzog & de Meuron, Elbphilharmonie ขึ้นมา”

  Erwin มองว่าผลงานชิ้นนี้ มีบทเรียนมากมายให้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น ความเพียร ความอดทน การมีส่วนร่วมในเชิงบวกอย่างสร้างสรรค์ และพื้นฐานของไอเดียต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของเสียง ที่ว่างในจินตนาการ พื้นผิวของเสียง คุณภาพของแสง และการที่คนเข้าไปอยู่ในสถานที่ และที่ว่างนั้น ๆ รวมถึงได้เรียนรู้ถึงการร้อยเรียงเรื่องราวในตัวงาน และการถ่ายทอดความรู้สึกผ่านประสาทสัมผัส อีกทั้งยังได้เรียนรู้ถึงทักษะในการออกแบบจากหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่นำพาเราไปสู่อารมณ์ ความรู้สึก ที่มีผลในมิติของชีวิตจริง เพื่อที่เราจะได้รับรู้เสมือนในชีวิตจริง


  โดยเนื้อหาในนิตยสาร a+u ฉบับ อธิบายถึงแนวคิดการออกแบบอาคาร Elbphilharmonie ตั้งแต่ภาพรวมของทั้งโครงการ ที่มาของโครงการ พื้นที่สาธารณะ รวมถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้คนในเมือง Hamburg จนถึงแนวความคิดในการจัดการพื้นที่ว่างในเชิงสถาปัตยกรรม อย่างหอประชุมใหญ่ ลานพลาซ่า ห้องโถง โซนบันไดเลื่อน และหลังคา จนถึงส่วนประกอบต่าง ๆ ของอาคาร เช่น หอประชุมใหญ่ ห้องโถง ห้องซ้อม โถงหลักที่ชื่อ Kaispeicher Plaza จนถึงส่วนของฟาซาด และหลังคา ต่อด้วยพื้นที่สาธารณะ ที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมของเมือง ประกอบร่วมกับการร้อยเรียงภาพประกอบการทำงาน พร้อมด้วยโมเดลของตึก Elbphilharmonie ที่แยกย่อยเป็นประเด็นตามหัวข้อ จนถึงขั้นตอนการออกแบบและทำเลย์เอ้าท์ (mock-ups) ของหนังสือ อีกทั้งนิตยสารฉบับนี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือกันของคนหลากหลาย อาทิ Herzog & de Meuron สถาปนิกที่ออกแบบตึกและยังรับผิดชอบเขียนเนื้อหาเกี่ยวกับการออกแบบอาคาร Elbphilharmonie ในเล่มนี้ รวมทั้งยังได้ 2 ช่างภาพอย่าง Joël Tettamanti และ Armin Linke มาออกแบบปกหน้าและปกหลังด้วย


  จุดเด่นของอาคาร Elbphilharmonie คือส่วนล่างของอาคารที่เป็นโครงสร้างอิฐเก่า และส่วนบนของอาคารที่เป็นโครงสร้างกระจก ซึ่งภายในเป็นฮอลสำหรับจัดแสดงคอนเสิร์ต และพื้นที่ใช้สอยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Elbphilharmonie ในขณะที่ด้านล่างเป็นพื้นที่ใช้สอยของโรงแรม และพื้นที่ใช้สอยอื่น ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อเมือง Hamburg



  อธิบายถึงการก่อสร้าง รวมถึงโครงสร้างของตึกนี้ถูกติดตั้งอย่างไร เพื่อเสริมโครงสร้างด้านล่างให้แข็งแรง และสามารถยึดโครงสร้างใหม่ที่ถูกติดตั้งด้านบน


  

โมเดลที่ใช้ในการศึกษาแนวคิดในการออกแบบอาคาร Elbphilharmonie เพื่อนำเสนอว่าโครงสร้างนั้นสามารถเชื่อมต่อโครงสร้างเก่า และโครงสร้างใหม่ได้หรือไม่ รวมถึงจะทำการเชื่อมโยงโครงสร้างทั้งสองแบบได้อย่างไร



  รูปภาพแสดงถึงมุมมองของพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารที่มี Panels กว่า 10,000 ชิ้น ซึ่งพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดในส่วนนี้ถูกสร้างจากการออกแบบผ่านอัลกอริทึมพิเศษ เพื่อที่จะสร้างเสียงในอุดมคติภายในสเปซ โดยภาพตัดอธิบายถึงองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมว่าถูกร้อยเรียงอย่างไรเพื่อให้เกิดสเปซนี้



   พื้นที่สาธารณะที่ผู้คนสามารถมานั่งและชมวิวของเมือง Hamburg ได้ โดยบนพื้นผิวมีส่วนเว้าและส่วนนูนของตัวกระจก ซึ่งจะสร้างประสบการณ์ให้ผู้มาเยือนให้รู้สึกเหมือนตัวเมืองเข้ามาในระยะที่ใกล้ตัว หรือไกลออกไป ส่วนตัวกระจกนั้นมีการพิมพ์ลวดลาย ซึ่งทำให้คุณสามารถพุ่งจุดสนใจไปในบางส่วนเป็นพิเศษได้ นั่นคือทำให้เน้นบางวิวทิวทัศน์ของเมือง

   อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจมาก นอกจากตัวโครงสร้างเองแล้ว คือ ตึกนี้ยังออกแบบให้เป็นพื้นที่สาธารณะ โดยตัวหน้าต่างกระจกสามารถเปิดออก ระบายอากาศได้ ในขณะที่ผู้ใช้อาคารสามารถเพลิดเพลินกับวิวของเมือง และอ่าวของเมือง ถึงแม้ว่าจะอยู่ด้านในของตึกก็ตาม


   ด้านในอาคารมีหอประชุมใหญ่ สำหรับแสดงดนตรี ที่ถูกออกแบบให้สะท้อนเสียงอย่างสมบูรณ์แบบ เหมือนกับได้เล่นเปียโนด้วยตัวเอง หรือให้ความรู้สึกเหมือนคุณนั่งอยู่ข้าง ๆ เปียโนตัวนั้น เมื่อวงออร์เคสตราบรรเลงบทเพลง ผู้ชมจะรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของวงเพราะการจัดวาง และวิธีที่เสียงนั้นถูกออกแบบให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนมีส่วนร่วมในการสร้างเสียงเพลงนั้น ๆ และเพลิดเพลินกับเสียงเพลงอย่างที่สุด



 

Food in Kyoto โปรเจกท์ที่สะท้อนการอยู่ร่วมกัน และการสร้างสรรค์ร่วมกัน ผ่านอาหารในบริบทของเมืองเกียวโต


  Food in Kyoto เป็นโครงการเกี่ยวกับการสำรวจ Metabolism ของเมือง โดยการตั้งคำถามว่าเราสามารถเข้าใจความเป็นเมืองผ่านอาหารได้อย่างไร ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง Erwin กับ Kyoto Design Lab จาก Kyoto Institute of Technology และ ETH Studio Basel Contemporary City Institute พร้อมเชิญสถาปนิกรุ่นใหม่ 2 ท่านจากสถาบัน คือ Manuel Herz และ Shadi Rahbaran มาช่วยดูแลโปรเจกท์นี้กับนักศึกษาที่ร่วมทำงานกันในช่วงเดือนมิถุนายน 2015

  “เราสังเกตได้ว่าในอาหารมักจะมีน้ำเป็นวัตถุดิบ เราเลยเริ่มต้นจากจุดนั้น และเราต้องการที่จะเข้าใจว่ามันสามารถเชื่อมโยงกับตัวเมืองได้อย่างไร รวมถึงการไหลเวียนของอาหาร กระบวนการผลิตส่วนผสมของอาหาร และตัวตลาดเอง โดยเราพยายามตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังรวมถึงการบริโภคด้วย วิธีที่คนเราเพลิดเพลินกับอาหารในร้านอาหาร ที่บ้าน หรือผ่านบริการจัดส่งอาหาร”


  การทำงานของพวกเขาคือออกสำรวจภาคสนาม และร่วมมือกับตลาดค้าส่ง และตลาดนิชิกิในเมืองเกียวโต ซึ่งเป็นตัวอย่างของวิธีการอยู่ร่วมกัน (Co-exist) และการสร้างสรรค์ร่วมกัน (Co-Create) ในบางองค์ประกอบ ซึ่งในกระบวนการทำงานนี้ ทำให้พวกเขาสามารถจัดตั้งชุดข้อมูลขึ้นมาได้ เป็นแผนที่สารานุกรมแห่งเมืองเกียวโตผ่านการค้นหาว่าอาหารนั้นสามารถเมืองได้อย่างไร เกิดจากการวิเคราะห์การถ่ายทอดอาหารในพื้นที่ภายในตัวเมือง ภายใต้ความรู้พื้นฐานของวัฒนธรรม โครงสร้างเมือง และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของเมืองเกียวโต จนได้ผลการวิจัยและวิเคราะห์ทั้งหมดที่รวบรวมอยู่ในหนังสือที่มีมากกว่า 400 หน้า


 

Food in Kyoto เฟส 2 ปี 2016


  จากการสำรวจครั้งแรก โปรเจกท์ Food in Kyoto ต่อยอดมาสู่การเวิร์คช็อปครั้งที่ 2 ที่ถูกพัฒนาจนมีความเป็นสถาปัตยกรรมมากขึ้น โดยสำรวจว่าสถาปัตยกรรมสามารถเกี่ยวข้องอย่างไรกับตลาดนิชิกิ โดยเน้นการค้นหาประเภทของพื้นที่ที่เหมาะสมในการเผยแพร่และสืบสานวัฒนธรรมของอาหารแห่งเมืองเกียวโต โดยต้องผสมผสานประเพณีของตลาดนิชิกิ พร้อมทั้งต้อนรับนักท่องเที่ยวได้อย่างลงตัว

  “เกิดจากความเปลี่ยนแปลงในตลาดที่ก่อนนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น แต่พบว่าปัจจุบันหนาแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้เรากลับไปค้นหาข้อมูลที่ตลาดนิชิกิอีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจและสร้างชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องขึ้นมา รวมถึงหาแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้เพื่อตอบรับกับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นที่ตลาด”


 

นิทรรศการ “Food Shaping Kyoto” ที่ Vitra Design Museum ใน Vitra Campus ที่เมืองไวล์อัมไรน์ ประเทศเยอรมนี ปี 2019


  Erwin กล่าวว่านอกจากการค้นพบทั้งหมดจะถูกรวบรวมไว้ในหนังสือแล้ว ยังนำมาสู่การจัดแสดงนิทรรศการ “Food Shaping Kyoto” ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างตลาดนิชิกิ มหาวิทยาลัย Kyoto Institute of Technology และ Vitra Campus ที่ทำให้เกิดการร่วมสร้างสรรค์อีกครั้ง “เราจะได้ปรับปรุงโลกของเรา และมองดูวิธีที่จะขยายองค์การสถาปัตยกรรมการออกแบบ และสาขาอื่น ๆ ที่เรากำลังทำงานอยู่” โดยภายในนิทรรศการจัดแสดงข้อมูลมากกว่า 400 รายการ เครื่องมือที่ถูกใช้จริงในตลาดนิชิกิ รวมถึงการแสดงวิดีโอ 360 องศาด้วย


 

“Instagram Innovation Workshop” ปี 2019


  “Instagram Innovation Workshop” เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง Herzog & de Meuron, Singapore University of Technology and Design (SUTD) และ Kyoto Design Lab ในปี 2019

   “สืบเนื่องจากการที่ Instagram ที่มีผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตเรา รวมไปถึงสื่อดิจิตอลต่าง ๆ ซึ่งความแพร่หลายของโซเซียลมีเดียนี้ได้ปรับเปลี่ยนการรับรู้ และปฏิกิริยาที่เรามีต่อที่ว่าง งานสถาปัตยกรรม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีอิทธิพลต่อวิธีสร้างสรรค์งานทางสถาปัตยกรรมและงานออกแบบอย่างมาก จึงเกิดคำถามว่าเรามีมุมมองต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร และเราจะทำงานกับสิ่งเหล่านี้กันอย่างไร”

  “จึงทำให้กลุ่ม Swiss Innovation ร่วมกับ Herzog & de Meuron, SUTD และ Kyoto Design Lab ในปี 2019 ที่ Basel เป็นวิธีการที่น่าสนใจมากที่นักศึกษาจากสิงคโปร์ และเกียวโต ได้ร่วมกันทำงานในขอบเขตของอินสตาแกรม เพื่อที่จะสะท้อนส่ิงที่ต้องการ โดยนำเสนอผ่านบุคลิกขอบบุคคลนั้น ๆ ผ่านรูปแบบที่ถูกรวบรวมและโพสต์ไว้ในอินสตาแกรม ซึ่งนักศึกษามีจุดเร่ิมต้นในการทำงานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยพวกเขาจะย้อนไปดูภาพถ่ายเก่า ๆ ของโปรเจกท์ต่าง ๆ ของ Herzog & de Meuron พร้อมศึกษาว่าช่างภาพที่ถ่ายภาพเหล่านั้นต้องการถ่ายทอดเนื้อหาสำคัญอะไรในโปรเจกท์ออกมาบ้าง รวมถึงตั้งคำถามว่า อะไรเป็นสิ่งที่ควรจะถูกถ่ายทอดออกมาผ่านการทำงานโปรเจกท์ต่าง ๆ ซึ่งสามารถทำให้เราได้รับรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้รู้จักกับไอเดียใหม่ ๆ ความคิดใหม่ ๆ และศิลปะแห่งการเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับงานสถาปัตยกรรม"

  “เราจะเล่าเรื่องราวอย่างไรให้น่าสนใจในยุคของข้อมูลข่าวสารนี้ เราสามารถยกระดับมุมมองที่ทำให้งานสถาปัตยกรรมน่าสนใจมากขึ้นได้อย่างไร ผ่านการนำเสนอ และการถ่ายทอด”


 

Sustainability Plan จาก Singapore University of Technology and Design (SUTD)



  “จากการที่เราเผชิญหน้ากับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการตั้งคำถามถึงแนวคิดของความยั่งยืน ฯลฯ ดังนั้นเราจะใช้ชีวิตที่ดีได้อย่างไร? เป็นคำถามที่ทำให้ทางมหาวิทยาลัยมีนโนบายสร้างเป้าหมายขององค์กรเพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืน (ประกาศผ่านสื่อเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2021)” Erwin ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของ สถาบัน Sustainability Initiatives ที่มหาวิทยาลัย SUTD จึงถูกทาบทามให้ร่วมทำงานในส่วนนี้ด้วย

  Erwin ให้ความรู้ว่าแผนพัฒนาสู่ความยั่งยืนของ SUTD ประกอบด้วย 3 หลักใหญ่สำคัญคือ 1) “วิจัยความยั่งยืน นวัตกรรม และองค์กร” 2) “การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" และ 3) "O.A.S.I.S" ซึ่งย่อมาจาก Open Arena for Sustainbility Innovation and Solution หรือ พื้นที่สำหรับนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืน และวิธีการแก้ปัญหา โดยแต่ละส่วนต่างสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืน และเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นผ่านองค์ความรู้ในการออกแบบ อีกส่วนหนึ่งที่ทาง SUTD สนใจคือเรื่องของ Circular Economy ด้วย

  “พื้นที่ของมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบจึงกลายเป็นพื้นที่ตัวอย่างสำหรับการทดลอง และการร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง”



  หนึ่งในโปรเจกท์ที่ทาง SUTD ร่วมทำงานกับหลายภาคส่วน คือ การทำงานร่วมกับ North West Community Development Council (CDC) เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ยั่งยืน โดยการวิจัยด้านการนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำ (Re-use) เช่น ลังกระดาษที่พับได้ และเฟอร์นิเจอร์ที่สร้างมาจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถนำมารวมตัวกันและถอดประกอบได้ รวมถึงสามารถย่อยสลายกลับสู่ธรรมชาติได้



  ตัวอย่างที่แสดงเห็นถึงความร่วมมือกันระหว่างผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นักออกแบบ และชุมชน ผ่านโครงการที่ใช้เทคโนโลยีแบบใหม่มาร่วม เช่น การพิมพ์ 3 มิติจากห้องแล็บ SUTD AIRLAB สำหรับพัฒนางานวิจัยที่ทำร่วมกับ Carlos Banon และบริษัท City Development Limited เพื่อสร้างโครงการนำร่องสำหรับระบบเกษตรกรรมแนวตั้ง ผ่านการพิมพ์ 3 มิติโดยใช้วัสดุที่ยั่งยืนและทำมาจากธรรมชาติ ซึ่งถูกติดตั้งภายในโครงการ City Square Mall ของบริษัท City Development



  การออกแบบห้องสมุดเด็ก ที่หอสมุดแห่งชาติ เป็นอีกหนึ่งโปรเจกท์ที่ทำร่วมกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ City Development Limited และสถาปนิกจาก ADDP Architects เพื่อสร้าง “My Tree House “ งานออกแบบที่สื่อถึงความยั่งยืนแบบธรรมชาติ สุขภาพที่ดี ดูเป็นมิตร เข้าถึงง่าย และสร้างประสบการณ์อันมีคุณค่าในรูปแบบของห้องสมุดเด็ก โดยการออกแบบพื้นที่ที่สร้างประสบการณ์ใหม่ มีการใช้หุ่นยนต์ที่ตอบสนองได้ ร่วมกับแนวทางการปฏิบัติงานที่ยั่งยืน นอกจากนี้พื้นที่ยังเชิญชวนเด็กเข้ามาในโลกมหัศจรรย์แห่งการเล่าเรื่องผ่านหนังสือด้วย



  โปรเจกท์ความร่วมมือกับสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ซึ่งปลดระวางเครื่องบินรุ่น Airbus 380 จึงเกิดคำถามว่าสามารถทำอะไรได้บ้างกับชิ้นส่วน Aisbus 380 นี้ โดยนักศึกษาจาก SUTD ได้รับโจทย์ให้ออกแบบพาวิลเลียนจากการนำชิ้นส่วนของหน้าต่างเครื่องบินมาใช้ ซึ่งตอนนี้ได้มีการระดมความคิดแบบเร่งด่วน (Design Hackathon) เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่


 

Forming Unforming


  หนังสือเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่ยั่งยืน เพื่อถ่ายทอดแนวคิด ความตั้งใจ ภาระกิจต่าง ๆ ในการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของ SUTD ในฐานะของโรงเรียนสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ซึ่งสะท้อนการเรียนรู้การใช้งานระบบคอมพิวเตอร์กับงานสถาปัตยกรรม รวมไปถึงกับหลักสูตรของโรงเรียนด้วย ในการทำหนังสือเล่มนี้ก็ใช้ปัญญาประดิษฐ์โมดูล (AI Deep Learning) ในการใส่เนื้อหาทั้งหมดที่ผ่านมาในเวลา 3 ปีจากหนังสือForming Unforming (ปี 2017, 2018 และปี 2021) ทำให้เกิดภาพปก 700 แบบที่เป็นเอกลักษณ์ ดังนั้นหนังสือทั้ง 700 เล่มจึงมีหน้าปกที่เฉพาะตัว



  หนังสือเริ่มต้นจากการคลายตัว หรือการแยกย่อยเนื้อหา ก่อนจะถูกนำไปตีความใหม่โดยคอมพิวเตอร์ และสร้างเนื้อหาใหม่ที่เกิดขึ้นจากมุมมองใหม่ ดังนั้นคอมพิวเตอร์จึงเป็นเสมือนนักออกแบบ ถ่ายทอดภาพรวมของ SUTD ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และเครื่องมือการออกแบบ ผ่านแนวทางการขับเคลื่อนด้วยกระบวนการที่คอมพิวเตอร์เป็นผู้ร่วมออกแบบได้



  วิธีการออกแบบหนังสือ Forming Unforming ที่ใช้คอมพิวเตอร์นั้นในการออกแบบหน้าปก 700 แบบนั้น สะท้อนกระบวนการเรียบเรียง ทั้งแบบที่เรียงลำดับ และแบบที่เกิดขึ้นในเวลาเดียว เพื่อที่จะคลายตัวและสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ เริ่มต้นด้วยการป้อนข้อมูลเวกเตอร์ Noise (N) และ Latent Codes (Z,W) ต่อด้วย Learned Constant (C) ประกอบไปด้วย 3 โครงข่าย คือ Maping Network, Generator และ Discriminator หลังจากชุดข้อมูลทั้งหมดถูกป้อนเข้าไปในเครื่อข่าย StyleGAN (Generative Adversarial Network) มันจะดำเนินการด้วยตัวมันเองในเขิง Deep Learning Model ซึ่งมันสามารถถูกเทรนให้ผลิตรูปภาพใหม่ ๆ

bottom of page